พาชมพิพิธภัณฑ์อัญมณีและเครื่องประดับสกุลช่างเพชรบุรี จากบ้านช่างทอง

พาชมพิพิธภัณฑ์อัญมณีและเครื่องประดับสกุลช่างเพชรบุรี จากบ้านช่างทอง

 

ขอเชิญผู้ที่สนใจเข้าร่วมชมการจัดแสดงเครื่องประดับสกุลช่างเพชรบุรีจากสินค้า”บ้านช่างทอง” เพื่อชื่นชมความงามและเสริมสร้างความรู้เพิ่มเติม ณ พิพิธภัณฑ์อัญมณีและเครื่องประดับ.

ทั้งนี้ช่างทองสกุลเพชรบุรี หรือช่างทองเมืองเพชรเป็นสกุลช่างที่มีบทบาทสูงมากในการทำทองให้แก่ราชสำนักในช่วงสมัยรัตนโกสินทร์ โดยสืบทอดรูปแบบโบราณมาจากศิลปะเครื่องทองสมัยอยุธยาและยังเป็นช่างกลุ่มเดียวที่ยังคงรักษาและสืบทอดรูปแบบโบราณเอาไว้ ช่างทองสกุลเพชรบุรีเป็นผู้ผลิตทองรูปพรรณที่มีรูปทรงและลวดลายดัดแปลงมาจากธรรมชาติ และสิ่งของที่อยู่ใกล้ ๆ ตัวในชีวิตประจำวัน เช่น ลูกสน เต่าร้าง ดอกพิกุล ดอกมะลิ เป็นต้น

 

พาชมพิพิธภัณฑ์อัญมณีและเครื่องประดับสกุลช่างเพชรบุรี จากบ้านช่างทอง - 1
พาชมพิพิธภัณฑ์อัญมณีและเครื่องประดับสกุลช่างเพชรบุรี จากบ้านช่างทอง

สกุลช่างเพชรบุรี เป็นหนึ่งในช่าง 10 หมู่ ของไทย ที่สือบทอดรูปแบบโบราณมาจากศิลปะเครื่องทองสมัยกรุงศรีอยุธยา จึงทำให้รูปพรรณที่ได้ มีความงดงาม ประณีต ละเอียดอ่อน สกุลช่างกลุ่มนี้ เป็นสกุลช่างที่มีบทบาทสูงมาก ในการทำทองให้แก่ราชสำนักในช่วงสมัยรัตนโกสินทร์ และยังเป็นช่างกลุ่มเดียวที่ยังคงรักษาและสืบทอดรูปแบบโบราณเอาไว้

ความโดดเด่นของงานทองเพชรบุรีนั้น นอกจากการทำทองแบบโบราณที่สืบทอดมาจากศิลปะเครื่องทองสมัยอยุธยาแล้ว ยังมีการคิดค้นรูปแบบโดบการเลียนแบบ หรือ สร้างสรรค์จากธรรมชาติรอบตัว เช่น การเลียนแบบพืชและสัตว์หรือวัตถุมงคล โดยมีคติความเชื่อแอบแฝงอยู่ทั้งสิ้น

พาชมพิพิธภัณฑ์อัญมณีและเครื่องประดับสกุลช่างเพชรบุรี จากบ้านช่างทอง - 2
พาชมพิพิธภัณฑ์อัญมณีและเครื่องประดับสกุลช่างเพชรบุรี จากบ้านช่างทอง

 

ปะสะหล่ำ  (โคมจีน)

แสงสว่างที่ช่วยนำทางไปสู่เป้าหมายและความรุ่งโรจน์

ลูกสน (ลูกสนทะเล)

เลียนแบบความละเอียดอ่อนของลูกสนทะเล

เต่าร้าง (ต้นเต่าร้าง)

อิสระ พริ้วไหวเหมือนใบต้นเต่าร้างยามลมพัดแหว่งไกว

กระดุม (บัวสัตตบงกช)

มีความศรัทธา ความสงบ สง่างาม เป็นต้นแบบในการเขียนแบบลายไทย

พิกุล (ดอกพิกุล)

ดอกในสวนของพระอินทร์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์แม้จะร่วงโรยก็ยังคงมีกลิ่นหอม

พิรอด (แหวนพิรอด)

แทนเครื่องรางแคล้วคลาดจากภัย

YouTube: https://www.youtube.com/watch?v=lHVb5OFzjyk

บ้านช่างทองกรุ๊ป จัดแสดงเครื่องประดับทองคำ 99.99% จากสกุลช่างทองเพชรบุรี

เครื่องทองโบราณแห่งเมืองเพชรบุรี

จังหวัดเพชรบุรี เป็นเมืองเก่าแก่ที่เคยรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยเมื่อครั้งอดีตได้เคยเป็นเมืองหน้าด่านของไทยทางทิศตะวันตกและมีความเจริญทางด้านการค้า ปัจจุบันนอกจากเป็นเมืองที่มีสถานที่ท่องเที่ยวด้านศิลปวัฒนธรรม และโบราณสถานต่าง ๆ แล้ว ยังปรากฏงานศิลปหัตถกรรมที่เป็นผลงานของช่างสกุลเมืองเพชรซึ่งมีหลากหลายแขนงตกทอดมาจนถึงยุคปัจจุบัน อาทิ งานจิตรกรรม งานปฏิมากรรม งานแกะสลัก และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานเครื่องทองรูปพรรณแบบโบราณ ซึ่งเป็นเสมือนสัญลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งของจังหวัดเพชรบุรี

พาชมพิพิธภัณฑ์อัญมณีและเครื่องประดับสกุลช่างเพชรบุรี จากบ้านช่างทอง

ความเป็นมาของทองโบราณเพชรบุรี

เครื่องทองโบราณเพชรบุรีเกิดขึ้นในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้ก่อสร้างพระราชวังพระนครคีรี (เขาวัง) จึงทำให้มีการส่งช่างหลวงในสำนักช่างสิบหมู่ ซึ่งรวมถึงช่างทองหลวงเข้าไปยังเมืองเพชรบุรี อีกทั้งในรัชสมัยต่อๆ มายังได้มีการก่อสร้างสถานที่ต่าง ๆ เกิดขึ้นตามมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ พระราชวังรามราชนิเวศน์ และพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ดังนั้น การที่ช่างสิบหมู่ในราชสำนักได้มารวมตัวกันอยู่ที่เมืองเพชรบุรี จึงทำให้ศิลปะชั้นสูงได้หลั่งไหลเข้าสู่เมืองเพชรบุรี จนเกิดการถ่ายทอดความรู้ให้กับคนในท้องถิ่น โดยศิลปะการทำเครื่องทองได้ถูกถ่ายทอดให้แก่ช่างทองพื้นเมืองเพชรบุรีที่ได้มีโอกาสมาเป็นผู้ช่วยช่างหลวง เกิดการหลอมรวมศิลปะและเทคนิคต่างๆ กลายเป็นเครื่องทองเมืองเพชรที่มีเอกลักษณ์พิเศษเฉพาะตัว คือ มีความเป็นงานศิลปะแบบไทยโบราณผสมผสานกับความเป็นพื้นบ้านของเพชรบุรีที่นำเสนอความงดงามของธรรมชาติ และการใช้ประโยชน์จากเครื่องทองเอาไว้อย่างกลมกลืน รวมทั้งมีการถ่ายทอดศิลปะและเทคนิคการผลิตเครื่องทองให้แก่ช่างรุ่นหลังอย่างต่อเนื่อง จึงถือได้ว่าเครื่องทองเพชรบุรีเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งของไทย

 

เอกลักษณ์ของทองโบราณเพชรบุรี

เครื่องทองเพชรบุรีจัดเป็นภูมิปัญญาไทยที่มีความงดงาม ด้วยมีเอกลักษณ์และรูปแบบเหมือนกับทองโบราณ ซึ่งถึงแม้ว่าจะได้รับการถ่ายทอดมาจากช่างทองหลวงในสมัยรัตนโกสินทร์ แต่ลวดลายที่ปรากฏบนชิ้นงานจัดเป็นลวดลายของทองโบราณในสมัยกรุงศรีอยุธยาที่มีความละเอียด อ่อนช้อย และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

การผลิตเครื่องทองของเพชรบุรี ส่วนมากเป็นการผลิตเครื่องประดับทองรูปพรรณประเภทสร้อยคอ สร้อยข้อมือ แหวน ต่างหู จี้ เข็มกลัด ฯลฯ ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอยู่ที่รูปทรงและลวดลายดัดแปลงจากธรรมชาติ รวมถึงสิ่งของต่างๆ ในชีวิตประจำวัน อาทิ ลูกสน ดอกพิกุล ไข่ปลา เต่าร้าง ดอกพิกุล ดอกมะลิ ปลา เป็นต้นวัสดุที่นำมาผลิตเป็นเครื่องประดับมีทั้งทอง เงิน นาค และอัญมณี นอกจากนี้ ในส่วนของรูปแบบชิ้นงานที่มีชื่อเสียงและสะท้อนเอกลักษณ์ของทองเพชรบุรีได้ค่อนข้างชัดเจน ได้แก่

“สร้อยขัดมัน” ซึ่งเกิดจากการใช้เทคนิคเฉพาะของช่างเมืองเพชรในการนำลวดทองมาดัดเป็นรูปวงรี เชื่อมห่วงแต่ละห่วงให้ต่อกันเหมือนโซ่แล้วใช้ตะไบละเอียดลบเหลี่ยมของสันห่วงตลอดเส้นโดยสร้อยขัดมันถือเป็นชิ้นงานพื้นฐานดั้งเดิมที่ช่างเมืองเพชรทุกคนต้องทำเป็น

“กำไลก้านบัว” ถือเป็นชิ้นงานที่ช่างเมืองเพชรใช้ศิลปะการผสมผสานทางวัฒนธรรมระหว่างแบบอยุธยากับแบบจีนมีลักษณะเป็นกำไลที่ส่วนปลายเป็นรูปดอกบัวหลวง โดยส่วนที่เป็นทองคำจะอยู่ตรงส่วนปลายของทั้งสองข้างและมีการสลักลวดลายตรงกลีบบัว เช่น ลายประจำยาม

“แหวนหรือกำไลพิรอด” มีลักษณะเป็นแหวนถักคล้ายกับเครื่องรางสมัยโบราณ ซึ่งสะท้อนวิถีชีวิตและความเชื่อของคนภาคกลางสมัยก่อน ส่วนมากนิยมฝังพลอยนพเก้าลงไป

“แหวนตะไบ” มีลักษณะเป็นแหวนฝังพลอยหรือเพชรซีกที่มีการสร้างลวดลายโดยตะไบขอบทั้งสองข้างของแหวนให้เป็นร่องลึก

พาชมพิพิธภัณฑ์อัญมณีและเครื่องประดับสกุลช่างเพชรบุรี จากบ้านช่างทอง - 4
พาชมพิพิธภัณฑ์อัญมณีและเครื่องประดับสกุลช่างเพชรบุรี จากบ้านช่างทอง

การค้าเครื่องทองเพชรบุรีในปัจจุบัน

เครื่องทองเพชรบุรีที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบของเครื่องประดับทั้งแหวน สร้อยคอ สร้อยข้อมือ ต่างหูเข็มกลัด ฯลฯ โดยมีกลุ่มผู้บริโภคส่วนใหญ่เป็นวัยผู้ใหญ่และนักสะสมที่ชื่นชอบศิลปะแบบโบราณ เครื่องทองเมืองเพชรสามารถสวมใส่ได้ทั้งชายและหญิงโดยมีหลายระดับราคาขึ้นอยู่กับความยากง่ายในการผลิต โดยทั่วไปช่างต้องใช้เวลาในการผลิตแต่ละชิ้นเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3 ถึง 10 วัน ค่าแรงของช่างเริ่มต้น ชิ้นละ 1,500 บาทขึ้นไปตามลักษณะของชิ้นงาน ในด้านการค้าเครื่องทองเพชรบุรีในปัจจุบันค่อนข้างซบเซาเพราะลูกค้ามีจำนวนน้อย ผู้ประกอบการหลายรายต้องปิดกิจการลง ขณะที่ผู้ประกอบการบางส่วนได้พยายามใช้วิธีขายสินค้าผ่านทางหน้าเว็บไซต์ รวมถึงรับจ้างผลิตตามคำสั่งซื้อของลูกค้าเพื่อให้ธุรกิจสามารถดำรงอยู่ได้ในภาคการผลิตพบว่าจำนวนช่างฝีมือทำเครื่องประดับทองเพชรบุรีก็ลดน้อยลงไปด้วยเนื่องจากแต่เดิมการถ่ายทอดงานช่างทองจังหวัดเพชรบุรี มักสอนให้เฉพาะแค่คนในครอบครัวและผู้ที่มีใจรักในศิลปะอย่างจริงจังเท่านั้นแวดวงช่างฝีมือจึงค่อนข้างจำกัด เกิดการขาดช่วงและเกิดช่างฝีมือน้อยลงเรื่อย ๆ

 

Follow Us

 

 

พิพิธภัณฑ์อัญมณีและเครื่องประดับ

 

การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์อัญมณีและเครื่องประดับเป็นส่วนหนึ่งในแผนงานของสถาบันที่มุ่งหวังจะเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ และกระตุ้นให้เยาวชนและบุคคลทั่วไปได้ตระหนักถึงคุณค่าของอัญมณีและเครื่องประดับไทย อีกทั้งยังเป็นสถานที่สำหรับ การอนุรักษ์ตัวอย่างอัญมณีและเครื่องประดับไว้สำหรับอนุชนรุ่นหลังสืบต่อไป

ด้วยเหตุนี้ ในปี พ.ศ. 2544 สถาบันจึงได้จัดตั้งคณะกรรมการดำเนินงานโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์อัญมณีและเครื่องประดับ ขึ้นชุดหนึ่ง โดยมีศาสตราจารย์ศักดา ศิริพันธุ์ อดีตผู้อำนวยการสถาบัน และดร. สุณี ศรีอรทัยกุล นายกสมาคมผู้ค้าอัญมณี ไทยและเครื่องประดับในขณะนั้น เป็นประธานร่วม คณะกรรมการชุดนี้ได้ให้ความร่วมมือในการช่วยจัดหาอัญมณี / เครื่องประดับ / โลหะมีค่ารวมทั้งอุปกรณ์ที่ใช้ในกระบวนการผลิตเพื่อจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเพียงพอที่พิพิธภัณฑ์จะ จัดแสดงได้ในระดับหนึ่ง ต่อมาเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2545 สถาบันจึงได้จัดงานแนะนำพิพิธภัณฑ์อัญมณี และเครื่องประดับ โดยมีปลัดกระทรวงพาณิชย์ กรุณาให้เกียรติเป็นประธานในพิธี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์ โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ให้แพร่หลายในวงกว้างมากยิ่งขึ้น และนับแต่นั้นเป็นต้นมา พิพิธภัณฑ์อัญมณีและเครื่องประดับ ได้เปิดให้เข้าชมโดยมีนิสิต นักศึกษา ผู้เข้ารับการฝึกอบรมของสถาบัน ตลอดจนประชาชนทั่วไป ได้เข้าชมอย่างต่อเนื่อง

ด้วยเจตนารมณ์ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาให้พิพิธภัณฑ์เป็นสถานที่อนุรักษ์ตัวอย่างอัญมณีและเครื่องประดับและเพื่อการศึกษา ต่อเนื่องให้แก่อนุชนรุ่นหลังอันจะนำไปสู่การพัฒนาบุคลากรทางด้านอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทย ในระหว่างปี พ.ศ. 2546-2547 สถาบันยังคงปรับปรุงและพัฒนาการจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ให้ก้าวหน้าต่อไปโดยเพิ่มเติม การแสดงถาวรของพิพิธภัณฑ์อัญมณีและเครื่องประดับ ประกอบด้วย การแสดงการทำเหมืองอัญมณี การนำเสนอขั้นตอน การผลิตอัญมณี การจัดแสดงตัวอย่างอัญมณีทั้งก่อนและหลังการเจียระไน การจำแนกตามประเภทและคุณสมบัติของอัญมณี แต่ละชนิด รวมทั้งแบบและการผลิตของเครื่องประดับ ตลอดจนการแสดงวิดีทัศน์เกี่ยวกับอุตสาหกรรมอัญมณีและ เครื่องประดับและแสดงสถิติข้อมูลทางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับ นอกจากนี้ยังติดตั้งคอมพิวเตอร์ช่วยในการสอน (Computer Aided Instruction) สำหรับการศึกษาด้วยตนเองไว้ภายในห้องแสดงนิทรรศการอีกด้วย

พิพิธภัณฑ์อัญมณีและเครื่องประดับเปิดเป็นทางการเมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2547 โดยสถาบันได้ขอกราบทูล สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จเป็นองค์ประธานเปิดพิพิธภัณฑ์อัญมณี และเครื่องประดับ เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาส ราชนครินทร์ ทรงเจริญพระชนมายุ 80 พรรษา และเพื่อเป็นสิริมงคลแก่พิพิธภัณฑ์ เจ้าหน้าที่ และ ผู้เกี่ยวข้องทุกคนสืบไป

สถานที่ติดต่อ

พิพิธภัณฑ์อัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณี
และเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
อาคารไอทีเอฟ ทาวเวอร์ ชั้น 2 ถนนสีลม
แขวงสุริยวงศ์ เขตบางรัก กรุงเทพฯ 10500
ผู้สนใจเข้าชมพิพิธภัณฑ์เป็นหมู่คณะโปรดแจ้งล่วงหน้า
โทรศัพท์ 0 2634 4999 ต่อ 312
เวลาทำการ วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 8.30 – 16.30 น.
เว้นวันเสาร์ – อาทิตย์ วันนักขัตฤกษ์
และวันหยุดตามประกาศของสถาบัน